อนุสัญญาออตตาวา

อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
อารัมภบท
รัฐภาคี
          มุ่งมั่นจะยุติความทุกข์ทรมานและการสูญเสียที่เกิดจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งสังหารหรือทำให้ประชาชนนับร้อยคน ซึ่งส่วนมากเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์และไม่สามารถป้องกันตนเองได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ต้องทุพพลภาพทุกสัปดาห์ ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจและการบูรณะประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมของผู้ลี้ภัยและพลัดถิ่นในประเทศ และส่งผลร้ายแรงอื่น ๆ นานนับปีหลังจากการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
          เชื่อว่า จำเป็นต้องกระทำอย่างดีที่สุดเพื่อมีส่วนช่วยในการเผชิญความยากลำบากในการรื้อถอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งได้ถูกวางไว้ทั่วโลก โดยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและประสานกัน และเพื่อให้แน่ใจว่ามีการทำลายทุ่นระเบิดดังกล่าว
ปรารถนาที่จะกระทำอย่างดีที่สุดเพื่อจักหาความช่วยเหลือในการเอาใจใส่ และฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมรวมทั้งการกลับเข้าร่วมระบบสังคมและเศรษฐกิจ ให้แก่ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด
ตระหนักว่า การห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยสมบูรณ์เป็นมาตรการสร้างความไว้วางใจที่สำคัญประการหนึ่งด้วยเช่นกัน
ยินดีต่อการรับเอาพิธีสารว่าด้วยการห้ามหรือการจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด กับระเบิด และอาวุธอื่น ซึ่งได้รับการแก้ไขเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 ผนวกอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามหรือการจำกัดการใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงมากเกินไปหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย และเรียกร้องให้ทุกรัฐที่ยังมิได้ให้สัตยาบัน ดำเนินการให้สัตยาบันพิธีสารนี้โดยเร็ว
ยินดีต่อข้อมติสมัชชาแห่งสหประชาชาติที่ 51/45 เอส เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1996 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐทุกรัฐดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อจัดทำความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายและมีประสิทธิภาพเพื่อห้ามการใช้ สะสม ผลิต และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
เน้นย้ำบทบาทของจิตสำนึกของสาธารณชนที่จะส่งเสริมหลักการมนุษยธรรมต่อไป ดังมีหลักฐานจากการเรียกร้องให้มีการห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยสมบูรณ์ และตระหนักถึงความพยายามเพื่อเป้าหมายดังกล่าวซึ่งดำเนินการโดยขบวนการกาชาดและซีกวงเดือนแดงระหว่างประเทศ องค์การรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อห้ามทุ่นระเบิดทางบก และองค์กรที่มิใช่ของรัฐบาลอื่น ๆ จำนวนมากทั่วโลก
ระลึกถึงแถลงการณ์กรุงออตตาวาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1996 และแถลงการณ์กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ซึ่งเร่งรัดให้ประชาคมระหว่างประเทศเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทสที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อห้ามการใช้ สะสม ผลิต และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
ย้ำว่า การชักจูงให้รัฐทุกรัฐยึดมั่นในอนุสัญญานี้ เป็นสิ่งพึงปรารถนา และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความเป็นสากลของ อนุสัญญาในกรอบการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สหประชาชาติ ที่ประชุมลดกำลังอาวุธ กลุ่มและองค์การระดับภูมิภาคต่าง ๆ และการประชุมทบทวนอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามหรือการจำกัดการใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงมากเกินไปหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย
ตั้งอยู่บนหลักการของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ว่า ภาคีในการขัดกันด้วยอาวุธจะถูกจำกัดสิทธิที่จะเลือกวิธีหรือวิธีการสงคราม บนหลักการที่ว่า ในระหว่างการขัดกันด้วยอาวุธ ห้ามการใช้อาวุธโปรเจ็คไตล์ วัสดุและวิธีการสงคราม ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่เกินเหตุ หรือการทรมานโดยไม่จำเป็น และบนหลักการที่ต้องแยกพลเรือนและพลรบออกจากกัน
ได้ข้อตกลงดังต่อไปนี้


ข้อ 1
พันธกรณีทั่วไป
1.  ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด รัฐภาคีแต่ละรัฐรับผูกพันที่จะไม่
      เอ)  ใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
      บี)  พัฒนา ผลิต หรือได้มาด้วยวิธีอื่น สะสม จัดเก็บ หรือโอนไปสู่ผู้ใด ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
      ซี)  ช่วยเหลือ สนับสนุนหรือชักจูงผู้ใดให้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ต้องห้ามแก่รัฐภายใต้อนุสัญญานี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
2.  รัฐภาคีแต่ละรัฐรับผูกพันที่จะทำลายหรือดำเนินการให้แน่ใจว่ามีการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญานี้

ข้อ 2
คำจำกัดความ
1.  “ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” หมายถึง ทุ่นระเบิดที่ได้รับการออกแบบให้ระเบิดเมื่อบุคคลปรากฎตัว เข้าใกล้ หรือสัมผัส และจะทำให้บุคคลหนึ่งหรือมากกว่า ทุพพลภาพ บาดเจ็บ เสียชีวิต ทุ่นระเบิดซึ่งได้รับการออกแบบให้ระเบิดเมื่อมีการปรากฎ เข้าใกล้หรือสัมผัสโดยยานพาหนะ มิใช่บุคคล และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการเก็บกู้ ไม่ถือว่าเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยผลของการติดตั้งดังกล่าว
2.  “ทุ่นระเบิด” หมายถึง อาวุธที่ได้รับการออกแบบให้ติดตั้งอยู่ใต้ บนหรือใกล้พื้นดิน หรือบริเวณพื้นผิวใด และเพื่อให้ระเบิดเมื่อบุคคลหรือยานพาหนะปรากฎตัว เข้าใกล้หรือสัมผัส
3.  “อุปกรณ์ป้องกันการเก็บกู้” หมายถึง อุปกรณ์ที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อปกป้องทุ่นระเบิดและที่เป็นส่วนหนึ่งของทุ่นระเบิด ซึ่งเชื่อมติดอยู่หรือติดตั้งอยู่ใต้ทุ่นระเบิด และจะทำงานเมื่อมีความพยายามจะถอดชนวน หรือยุ่งเกี่ยวกับทุ่นระเบิดโดยตั้งใจ
4.  “การโอน” นอกจากการขนย้ายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทางกายภาพเข้ามาหรือออกนอกอาณาเขตของชาติแล้ว ยังเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิและการควบคุมทุ่นระเบิด แต่ไม่เกี่ยวกับการโอนดินแดนที่มีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไว้
5.  “พื้นที่ทุ่นระเบิด” หมายถึง พื้นที่ซึ่งเป็นอันตรายอันเนื่องมาจากการมีทุ่นระเบิดหรือสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด

ข้อ 3
ข้อยกเว้น
1.  นอกเหนือจากพันธกรณีทั่วไปภายใต้ข้อ 1 แล้ว อนุญาตให้จัดเก็บหรือโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลได้จำนวนหนึ่งเพื่อการพัฒนา การฝึกอบรมในการตรวจค้นทุ่นระเบิด การกวาดล้างทุ่นระเบิด หรือวิธีการทำลายทุ่นระเบิด จำนวนของทุ่นระเบิดดังกล่าว จะต้องไม่เกินจำนวนต่ำสุดที่จำเป็นอย่างที่สุดเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น
2.  อนุญาตให้โอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในการทำลาย

ข้อ 4
การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีสะสมไว้
เว้นแต่ที่ได้ระบุไว้ในข้อ 3 รัฐภาคีแต่ละรัฐรับผูกพันที่จะทำลายหรือดำเนินการให้แน่ใจว่า มีการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีสะสมไว้ทั้งหมด ซึ่งรัฐภาคีนั้นเป็นเจ้าของหรือครอบครอง หรืออยู่ในเขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีนั้นโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไม่เกิน 4 ปี หลังจากที่อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้สำหรับรัฐภาคีนั้น


ข้อ 5
การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิด
1.  รัฐภาคีแต่ละรัฐรับผูกพันที่จะทำลายหรือดำเนินการให้แน่ใจว่า มีการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ในพื้นที่ทุ่นระเบิดภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีนั้นโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี หลังจากที่อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้สำหรับรัฐภาคีนั้น
2.  รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องใช้ความพยายามทุกอย่าง ที่จะแสดงตำแหน่งพื้นที่ภายใต้เขตอำนาจหรือควบคุมของรัฐภาคีนั้น ซึ่งทราบหรือสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และจะต้องดำเนินการให้แน่ใจโดยเร็วที่สุดว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดในพื้นที่ทุ่นระเบิดภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุบของรัฐภาคีนั้น ได้รับการแสดงเขตบริเวณ มีการเฝ้าตรวจ และป้องกันโดยการใช้รั้วล้อมหรือวิธีอื่นใด เพื่อดำเนินการให้แน่ใจว่า มีการแยกพลเรือนออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนกว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นจะถูกทำลายทั้งหมด เครื่องหมายแสดงตำแหน่ง อย่างน้อยที่สุด จะต้องได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ในพิธีสารว่าด้วยการห้ามหรือการจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด กับระเบิด และอาวุธอื่น ซึ่งได้รับการแก้ไขเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 ผนวกอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามหรือการจำกัดการใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงมากเกินไปหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย
3.  หากรัฐภาคีเชื่อว่าตนจะไม่มีความสามารถที่จะทำลาย หรือดำเนินการให้แน่ใจว่า มีการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดตามที่อ้างถึงในวรรค 1 ภายในระยะเวลาดังกล่าว รัฐภาคีนั้นอาจร้องขอต่อที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมทบทวน เพื่อขยายกำหนดเวลาในการดำเนินการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลดังกล่าวให้เสร็จสิ้น ออกไปเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
4.  คำร้องขอแต่ละครั้งจะประกอบด้วย
      เอ)  ระยะเวลาที่เสนอขอขยายออกไป
      บี)  คำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลของการขยายเวลาที่เสนอ ซึ่งรวมถึง
          (1)  การเตรียมการและสถานะของงานที่ดำเนินการภายใต้โครงการระดับชาติในการกวาดล้างทุ่นระเบิด
          (2)  วิธีการด้านเทคนิคและด้านการเงินที่รัฐภาคีนำมาใช้ได้ในการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมด และ
          (3)  พฤติการณ์ที่ขัดขวางความสามารถของรัฐภาคีที่จะทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดในพื้นที่ทุ่นระเบิด
      ซี)  ผลระทบด้านมนุษยธรรม สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของการขยายเวลา และ
      ดี)  ข้อสนเทศอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคำร้องขอในการขยายเวลา
5.  ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมทบทวนจะประเมินคำร้องขอและวินิจฉัยคะแนนเสียงข้างมากของรัฐภาคีที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง ว่าจะอนุมัติคำร้องขอขยายเวลาหรือไม่ โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตามวรรค 4
6.  การขยายเวลาดังกล่าวอาจขยายต่อได้อีกโดยมีคำร้องขอใหม่ตามวรรค 3, 4 และ 5 ของข้อนี้ ในการร้องขอขยายเวลาต่อไปอีก รัฐภาคีจะต้องยื่นข้อสนเทศที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงเวลาที่ได้ขยายครั้งก่อนตามข้อนี้

ข้อ 6
ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ

1.  ในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญานี้ รัฐภาคีแต่ละรัฐมีสิทธิแสวงหาหรือรับความช่วยเหลือในส่วนที่ทำได้จากรัฐภาคีอื่น ๆ เท่าที่เป็นไปได้
2.  รัฐภาคีแต่ละรัฐรับผูกพันที่จะอำนวยความสะดวกแก่ และมีสิทธิที่จะเข้าร่วมอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ วัสดุและข้อสนเทศด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ รัฐภาคีจะไม่กำหนดข้อจำกัดที่ไม่สมควรต่อการจัดหาอุปกรณ์กวาดล้างทุ่นระเบิดและข้อสนเทศด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อความมุ่งประสงค์ด้านมนุษยธรรม
3.  รัฐภาคีแต่ละรัฐที่อยู่ในฐานะที่ทำได้ จะให้ความช่วยเหลือในการเอาใจใส่ฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งการกลับเข้าร่วมระบบสังคมและเศรษฐกิจของผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด และต่อโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับภัยของทุ่นระเบิด ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจให้ผ่านระบบของสหประชาชาติ องค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคหรือระดับชาติ คณะกรรมการกาชาดและสภาซีกวงเดือนแดงในระดับประเทศ และสมาพันธ์ระหว่างประเทศของสภากาชาดและสภาซีกวงเดือนแดง องค์กรที่มิใช่ของรัฐบาล หรือในระดับทวิภาคี เป็นต้น
4.  รัฐภาคีแต่ละรัฐที่อยู่ในฐานะที่ทำได้ จะให้ความช่วยเหลือในการกวาดล้างทุ่นระเบิดและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจผ่านระบบสหประชาชาติ องค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศหรือระดับภูมิภาค องค์การหรือสถาบันที่มิใช่ของรัฐบาล หรือในระดับทวิภาคี หรือโดยการบริจาคสมทบกองทุนโดยสมัครใจของสหประชาชาติเพื่อความช่วยเหลือในการกวาดล้างทุ่นระเบิด หรือกองทุนระดับภูมิภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เป็นต้น
5.  รัฐภาคีแต่ละรัฐที่อยู่ในฐานะที่ทำได้ จะให้ความช่วยเหลือในการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีสะสมไว้
6.  รัฐภาคีแต่ละรัฐรับผูกพันที่จะให้ข้อสนเทศแก่ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการกวาดล้างทุ่นระเบิด ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายในระบบของสหประชาชาติ โดยเฉพาะงานที่เชี่ยวชาญหรือจุดประสานระดับชาติในการกวาดล้างทุ่นระเบิด
7.  รัฐภาคีอาจร้องของให้สหประชาชาติ องค์การระดับภูมิภาค รัฐภาคีอื่น ๆ หรือที่ประชุมระหว่างรัฐบาลที่มีอำนาจหรือที่ประชุมที่มิใช่ของรัฐบาล ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นในการจัดทำโครงการเก็บกู้ทุ่นระเบิดระดับชาติ เพื่อกำหนดเรื่องต่าง ๆ เช่น
      เอ)  ระดับและขอบเขตของปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
      บี)  แหล่งเงินทุน ทรัพยากรด้านเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติตามโครงการ
      ซี)  ประมาณการจำนวนปีที่จำเป็นในการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดในพื้นที่ทุ่นระเบิดภายในเขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐที่เกี่ยวข้อง
      ดี)  กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับภัยของทุ่นระเบิดเพื่อลดจำนวนการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่เกี่ยวกับทุ่นระเบิด
      อี)  ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด
      เอฟ) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง กับองค์ภาวะของรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลและที่มิใช่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินงานการปฏิบัติตามโครงการ
8.  รัฐภาคีแต่ละรัฐที่ให้และรับความช่วยเหลือภายใต้บทบัญญัติของข้อนี้จะร่วมมือกันเพื่อดำเนินการให้แน่ใจว่าจะปฏิบัติโครงการความช่วยเหลือที่ตกลงกันอย่างเต็มที่และโดยพลัน

ข้อ 7
มาตรการด้านความโปร่งใส
1.  รัฐภาคีแต่ละรัฐจะรายงานต่อเลขาธิการสหประชาชาติโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และไม่ว่าในกรณีใดภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน หลังจากการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้สำหรับรัฐภาคีนั้น ในเรื่องดังนี้
      เอ)  มาตรการการปฏิบัติตามอนุสัญญาในระดับชาติที่อ้างถึงในข้อ 9
      บี)  จำนวนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดที่รัฐภาคีเป็นเจ้าของหรือครอบครอง หรือภายในเขตอำนาจ หรือการควบคุมของรัฐภาคีนั้น โดยให้รวมถึงการแบ่งหมวดหมู่ของแบบ ปริมาณ และหากเป็นไปได้ หมายเลขคุมของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแต่ละแบบที่สะสมไว้
      ซี)  ที่ตั้งของพื้นที่ทุ่นระเบิดที่มี หรือสงสัยว่าจะมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ภายในเขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีนั้นเท่าที่จะกระทำได้ โดยให้รวมถึงรายละเอียดให้มากที่สุดเกี่ยวกับแบบและปริมาณของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในแต่ละแบบที่มีอยู่ในพื้นที่ทุ่นระเบิดแต่ละแห่ง และเวลาที่ได้วางทุ่นระเบิดไว้
      ดี)  แบบ ปริมาณ และหากเป็นไปได้ หมายเลยคุมของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดที่จัดเก็บหรือโอนสำหรับการพัฒนาและการฝึกอบรมเทคนิคในการตรวจค้นทุ่นระเบิด การกวาดล้างทุ่นระเบิดหรือการทำลายทุ่นระเบิด หรือการโอนเพื่อความมุ่งประสงค์ในการทำลาย รวมทั้งสถาบันที่ได้รับอนุญาตจากรัฐภาคีให้จัดเก็บหรือโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยสอดคล้องกับข้อ 3
      อี)  สถานะของโครงการดัดแปลงหรือปลดประจำการสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
      เอฟ) สถานะของโครงการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามข้อ 4 และ 5 รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมวิธีซึ่งจะใช้ในการทำลาย ที่ตั้งสถานที่ที่จะใช้ในการทำลาย และมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ใช้อยู่และที่จะยึดถือ
      จี)  แบบและปริมาณทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ถูกทำลายหลังจากมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้สำหรับรัฐภาคีนั้น โดยให้รวมถึงการแบ่งหมวดหมู่ของปริมาณทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในแต่ละแบบที่ถูกทำลายตามข้อ 4 และ 5 ตามลำดับ และหากเป็นไปได้ พร้อมด้วยหมายคุมของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของแต่ละแบบในกรณีของการทำลายโดยสอดคล้องกับข้อ 4
      เอช) คุณลักษณะทางด้านเทคนิคของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในแต่ละแบบที่ผลิตขึ้นเท่าที่ทราบ และทุ่นระเบิดที่รัฐภาคีเป็นเจ้าของหรือครอบครองในขณะนี้ โดยเมื่อเป็นไปได้โดยสมเหตุสมผล ให้ข้อสนเทศในประเภทที่อาจอำนวยความสะดวกต่อการแสดงตำแหน่งและการกวาดล้างทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยข้อสนเทศนี้อย่างน้อยที่สุดจะต้องรวมถึงมิติ การจุดชนวน องค์ประกอบของวัตถุระเบิด องค์ประกอบของโลหะ ภาพสี และข้อสนเทศอื่นที่อาจอำนวยความสะดวกต่อการกวาดล้างทุ่นระเบิด และ
      ไอ)  มาตรการที่กำหนดสำหรับการแจ้งเตือนโดยทันทีและมีประสิทธิภาพต่อประชากรในพื้นที่ทั้งหมดที่ได้แสดงตำแหน่งไว้ตามวรรค 2 ของข้อ 5
2.  รัฐภาคีจะต้องปรับปรุงข้อสนเทศที่ให้ตามข้อนี้ให้ทันสมัยทุกปี โดยครอบคลุมปีปฏิทินที่ผ่านมา และจะต้องรายงานข้อสนเทศดังกล่าวต่อเลขาธิการสหประชาชาติไม่เกินวันที่ 30 เมษายน ของแต่ละปี
3.  เลขาธิการสหประชาชาติจะส่งรายงานดังกล่าวทั้งหมดไปยังรัฐภาคี

ข้อ 8
การอำนวยความสะดวกและการให้ความกระจ่างต่อการปฏิบัติตามพันธกรณี
1.  รัฐภาคีตกลงที่จะปรึกษาหารือและร่วมมือกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ และดำเนินงานร่วมกันด้วยเจตนารมณ์ของความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้รัฐภาคีปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้อนุสัญญานี้
2.  หากรัฐภาคีหนึ่งรัฐหรือมากกว่า ประสงค์จะขอความกระจ่างและขอให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ของรัฐภาคีอีกรัฐหนึ่ง รัฐภาคีนั้นอาจร้องขอความกระจ่างในเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งโดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ คำร้องขอดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยข้อสนเทศที่เหมาะสมทั้งหมด รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องเว้นจากการร้องขอความกระจ่างที่ปราศจากเหตุอันควร โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ไปในทางที่ผิด รัฐภาคีหนึ่งที่ได้รับการร้องขอความกระจ่าง จะต้องจัดหาข้อสนเทศทั้งหมดที่สนับสนุนการให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ให้แก่รัฐภาคีที่ร้องขอภายใน 28 วัน โดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ
3.  หากรัฐภาคีที่ร้องขอมิได้รับคำตอบโดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติภายในระยะเวลาดังกล่าว หรือเห็นว่า คำตอบต่อการร้องขอความกระจ่างยังไม่เป็นที่พอใจ รัฐภาคีนั้นอาจเสนอเรื่องโดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติเข้าสู่การประชุมรัฐภาคีครั้งต่อไป เลขาธิการสหประชาชาติจะส่งเรื่องดังกล่าวพร้อมกับข้อสนเทศที่เหมาะสมทั้งหมดเกี่ยวกับการร้องขอความกระจ่างไปยังรัฐภาคีทั้งหมด ข้อสนเทศทั้งหมดเหล่านี้จะต้องส่งไปยังรัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอ ซึ่งมีสิทธิที่จะตอบโต้ได้
4.  ในระหว่างที่รอการจัดประชุมรัฐภาคีครั้งใด รัฐภาคีใดที่เกี่ยวข้องอาจร้องขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้รับติดต่อเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการให้ความกระจ่างที่ร้องขอ
5.  รัฐภาคีที่ร้องขออาจเสนอโดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติให้จัดการประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เลขาธิการสหประชาชาติจะแจ้งข้อเสนอนี้และข้อสนเทศทั้งหมดที่ได้รับจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องไปยังรัฐภาคีทั้งหมด โดยร้องขอให้รัฐภาคีทั้งหมดระบุว่าสนับสนุนให้จัดการประชุมสมัยพิเศษหรือไม่ เพื่อความประสงค์ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่รัฐภาคีจำนวนหนึ่งในสามเป็นอย่างน้อยสนับสนุนการจัดประชุมสมัยพิเศษดังกล่าวภายใน 14 วันหลังจากวันที่แจ้งดังกล่าว เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษภายใน 14 วันถัดไป การประชุมนี้จะถือว่าครบองค์ประชุมเมื่อมีรัฐภาคีจำนวนข้างมากเข้าร่วม
6.  ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษแล้วแต่กรณี จะกำหนดในเบื้องแรกว่า จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไปหรือไม่โดยคำนึงถึงข้อสนเทศทั้งหมดที่เสนอขึ้นโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษจะพยายามทุกวิถีทางที่จะมีข้อวินิจฉัยโดยฉันทามติ หากได้พยายามทุกวิถีทางดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถตกลงกันได้ ที่ประชุมจะวินิจฉัยเสียงข้างมากของรัฐภาคีที่มาประชุมและออกเสียง
7.  รัฐภาคีทั้งหมดจะร่วมมืออย่างเต็มที่กับที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษในการดำเนินการทบทวนเรื่องดังกล่าว รวมทั้งกับคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ตามวรรค 8
8.  หากจำเป็นต้องได้รับความกระจ่างเพิ่มเติม ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษจะอนุมัติให้ส่งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยเสียงข้างมากของรัฐภาคีที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง ณ เวลาใดก็ตาม รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขออาจเชิญคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้าไปในอาณาเขตของรัฐภาคีนั้นได้ คณะดังกล่าวจะปฏิบัติภารกิจโดยไม่ต้องให้ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษมีข้อวินิจฉัยอนุมัติภารกิจ คณะดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญไม่เกิน 9 คน ซึ่งแต่งตั้งขึ้นและได้รับความเห็นชอบตามวรรค 9 และ 10 อาจเก็บข้อสนเทศเพิ่มเติมในพื้นที่หรือในสถานที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่มีการกล่าวอ้าง และอยู่ภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอ
9.  เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดเตรียมบัญชีรายชื่อ สัญชาติ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องของผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งจัดหาให้โดยรัฐภาคี และส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้แก่รัฐภาคีทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงบัญชีดังกล่าวให้ทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในบัญชีนี้จะถือว่าได้รับแต่งตั้งสำหรับภารกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เว้นแต่ภาคีหนึ่งจะประกาศไม่ยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษร ในกรณีที่ไม่ยอมรับ และหากการประกาศไม่ยอมรับนั้นกระทำก่อนการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะไม่เข้าร่วมในภารกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงในอาณาเขตหรือในสถานที่อื่นใดภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐที่คัดค้าน
10.  เมื่อได้รับการร้องขอจากที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษ เลขาธิการสหประชาชาติจะแต่งตั้งสมาชิกของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งหัวหน้าคณะ หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับรัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอแล้ว คนชาติของรัฐภาคีที่ร้องขอให้มีคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือคนชาติของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการร้องขอ จะได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สมาชิกของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงจะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันภายใต้ข้อ 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสหประชาชาติ รับเอาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946
11.  สมาชิกของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเดินทางถึงอาณาเขตของรัฐที่ได้รับการร้องขอในโอกาสแรก โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 72 ชั่วโมง รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องดำเนินมาตรการทางการบริหารที่จำเป็นสำหรับการรับ การเดินทาง และการจัดหาที่พักให้คณะดังกล่าว และจะต้องรับผิดชอบการประกันความปลอดภัยแก่คณะในขอบเขตที่กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในระหว่างที่คณะอยู่ในอาณาเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐภาคีนั้น
12.  คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจนำอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งจะใช้เฉพาะในการเก็บข้อสนเทศเกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กล่าวอ้าง เข้าไปในอาณาเขตของรัฐที่ได้รับการร้องขอได้ โดยไม่เป็นที่เสื่อมเสียต่ออธิปไตยของรัฐที่ได้รับการร้องขอ คณะจะต้องแจ้งรัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอก่อนเดินทางถึงว่า ประสงค์จะใช้อุปกรณ์ใดในงานของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง
13.  รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอจะพยายามทุกประการที่จะดำเนินการให้แน่ใจว่า คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงรับโอกาสในการสนทนากับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาจให้ข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กล่าวอ้างได้
14.  รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องอนุญาตให้คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้าถึงพื้นที่และที่ตั้งทุกแห่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐภาคีนั้น ซึ่งคาดหมายได้ว่า จะสามารถรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กล่าวอ้างได้ ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับการจัดการใด ๆ ที่รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจำเป็นสำหรับ
      เอ)  การระวังป้องกันอุปกรณ์ ข้อสนเทศและพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน
      บี)  การคุ้มครองพันธะตามรัฐธรรมนูญที่รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขออาจมี ในเรื่องกรรมสิทธิ์ การค้นและการยึด หรือสิทธิทางรัฐธรรมนูญอื่นใด หรือ
      ซี)  การคุ้มครองทางร่างกายและความปลอดภัยของสมาชิกของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง
      ในกรณีที่รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอจัดการดังกล่าว รัฐภาคีนั้นจะพยายามอย่างสมเหตุสมผลทุกประการที่จะแสดงว่าได้ปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ด้วยวิถีทางอื่น
15.  คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจอยู่ในอาณาเขตของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องได้ไม่เกิน 14 วัน และในพื้นที่เฉพาะใด ๆ ได้ไม่เกิน 7 วัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
16.  ข้อสนเทศทั้งหมดที่ได้ให้โดยทางลับและไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องของภารกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ถือเป็นความลับ
17.  คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงจะรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษ โดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ
18.  ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษจะพิจารณาข้อสนเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานที่เสนอโดยคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง และอาจร้องขอให้รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอ ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขประเด็นการปฏิบัติตามอนุสัญญานั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดแน่นอน รัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอจะรายงานมาตรการที่ได้ดำเนินการ เพื่อตอบสนองคำร้องขอดังกล่าว
19.  ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษอาจเสนอแนะหนทางและวิถีทางแก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องให้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นหรือแก้ไขปัญหาที่กำลังพิจารณา ซึ่งรวมถึงการเริ่มต้นกระบวนการที่เหมาะสมโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในพฤติการณ์ที่ประเด็นพิจารณาได้รับการชี้ขาดว่าเป็นผลจากพฤติการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐภาคีที่ได้รับการร้องขอ ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษอาจเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการความร่วมมือตามที่อ้างถึงในข้อ 6
20.  ที่ประชุมรัฐภาคีหรือที่ประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษจะพยายามทุกประการที่จะมีข้อวินิจฉัยตามที่อ้างถึงในวรรค 18 และ 19 โดยฉันทามติ หรือมิฉะนั้นโดยเสียงข้างมากสองในสามของรัฐภาคีที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง




ข้อ 9
มาตรการการปฏิบัติตามในระดับชาติ
รัฐภาคีแต่ละรัฐจะดำเนินมาตรการด้านกฎหมาย ด้านบริหาร และด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษทางอาญา เพื่อป้องกันและปราบปรามกิจกรรมใด ๆ ซึ่งต้องห้ามสำหรับรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญานี้ ที่กระทำโดยบุคคลหรือในอาณาเขตภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีนั้น

ข้อ 10
การระงับข้อพิพาท
1.  รัฐภาคีจะปรึกษาหารือและร่วมมือกันเพื่อระงับข้อพิพาทใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้หรือการตีความตามอนุสัญญานี้ รัฐภาคีแต่ละรัฐอาจนำข้อพิพาทดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคี
2.  ที่ประชุมรัฐภาคีอาจมีส่วนช่วยระงับข้อพิพาทโดยทุกวิถีทางที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการเสนอตัวเป็นผู้รับติดต่อ การเรียกร้องให้รัฐที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทเริ่มกระบวนการระงับข้อพิพาทตามทางเลือกของรัฐเหล่านั้น และการเสนอแนะกำหนดระยะเวลาสำหรับกระบวนการใด ๆ ที่ตกลงร่วมกัน
3.  ความในข้อนี้ไม่เป็นที่เสื่อมเสียต่อบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ในเรื่องการอำนวยความสะดวกและการให้ความกระจ่างในการปฏิบัติตามพันธกรณี

ข้อ 11
การประชุมรัฐภาคี
1.     รัฐภาคีจะประชุมโดยสม่ำเสมอเพื่อพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ หรือการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ ซึ่งรวมถึง
      เอ)  การปฏิบัติการและสถานะของอนุสัญญานี้
      บี)  เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดจากรายงานที่เสนอตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
      ซี)  ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศตามข้อ 6
      ดี)  พัฒนาการของเทคโนโลยีเพื่อกวาดล้างทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
      อี)  เรื่องที่รัฐภาคีเสนอภายใต้ข้อ 8 และ
      เอฟ) ข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐภาคีเสนอตามที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 5
2.  การประชุมรัฐภาคีครั้งแรกจะจัดขึ้นโดยเลขาธิการสหประชาชาติภายใน 1 ปี หลังจากมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้ การประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นทุกปีโดยเลขาธิการสหประชาชาติ จนกว่าจะมีการประชุมทบทวนครั้งแรก
3.  ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 8 เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดการประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษ
4.  รัฐที่ไม่ใช่ภาคีของอนุสัญญานี้ เช่นเดียวกับสหประชาชาติ สถาบันและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ องค์การระดับภูมิภาค คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และองค์การที่มิใช่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง อาจได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมที่ได้ตกลงกัน

ข้อ 12
การประชุมทบทวน
1.  การประชุมทบทวนจะจัดขึ้นโดยเลขาธิการสหประชาชาติ 5 ปี หลังจากการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้ การประชุมทบทวนครั้งต่อไปจะจัดขึ้นโดยเลขาธิการสหประชาชาติหากได้รับการร้องขอโดยรัฐสมาชิกหนึ่งรัฐหรือมากกว่า โดยมีเงื่อนไขว่า ช่วงเวลาระหว่างการประชุมทบทวนแต่ละครั้งจะไม่น้อยกว่า 5 ปี ไม่ว่าในกรณีใด รัฐภาคีของอนุสัญญานี้ทั้งหมดจะได้รับเชิญไปร่วมการประชุมทบทวนแต่ละครั้ง

ข้อ 13
การแก้ไขอนุสัญญา
1.  เมื่อไหร่ก็ตามหลังมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญานี้ รัฐภาคีใด ๆ อาจเสนอการแก้ไขอนุสัญญานี้ได้ ให้แจ้งข้อเสนอใด ๆ เพื่อแก้ไขแก่ผู้เก็บรักษา ซึ่งจะเวียนข้อเสนอดังกล่าวไปยังรัฐภาคีทั้งหมด และขอความเห็นของรัฐภาคีทั้งหมดว่าควรจะจัดการประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญาขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเสนอหรือไม่ หากภายใน 30 วันหลังจาการเวียนข้อเสนอ รัฐภาคีส่วนมากแจ้งแก่ผู้เก็บรักษาว่าสนับสนุนการพิจารณาข้อเสนอต่อไป ผู้เก็บรักษาจะจัดการประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญา โดยจะชวนรัฐภาคีทั้งหมดเข้าร่วม
2.  รัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคีของอนุสัญญานี้ เช่นเดียวกับสหประชาชาติ สถาบันและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ องค์การระดับภูมิภาค คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และองค์การที่มิใช่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง อาจได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญาในแต่ละครั้งในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมที่ได้ตกลงกัน
3.  การประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญาจะจัดขึ้นทันทีหลังจากการประชุมรัฐภาคีหรือการประชุมทบทวน เว้นแต่รัฐภาคีส่วนมากได้ร้องขอให้จัดเร็วขึ้น
4.  ให้รับเอาการแก้ไขอนุสัญญานี้ใด ๆ โดยเสียงข้างมากสองในสามของรัฐภาคีที่มาประชุมและลงคะแนนเสียงในที่ประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญา ผู้เก็บรักษาจะแจ้งการแก้ไขที่ได้รับเอาแล้วไปยังรัฐภาคี
5.  การแก้ไขอนุสัญญานี้ใด ๆ จะมีผลบังคับใช้ในรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ทั้งหมดซึ่งได้ยอมรับการแก้ไขนั้นเมื่อได้มีการส่งมอบสารการยอมรับโดยรัฐภาคีส่วนมาก หลังจากนั้นการแก้ไขนั้นจะส่งผลบังคับใช้สำหรับรัฐภาคีที่เหลือใด ๆ ในวันที่ส่งมอบสารการยอมรับของรัฐนั้น

ข้อ 14.
ค่าใช้จ่าย
1.  รัฐภาคีและรัฐที่มิใช่ภาคีอนุสัญญานี้ที่เข้าร่วมการประชุม จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการประชุมรัฐภาคี การประชุมรัฐภาคีสมัยพิเศษ การประชุมทบทวน และการประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญา ตามสัดส่วนอัตราประเมินของสหประชาชาติที่ได้ปรับอย่างเหมาะสม
2.  รัฐภาคีและและรัฐที่มิใช่ภาคีอนุสัญญานี้ที่เข้าร่วมการประชุม จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดแก่เลขาธิการสหประชาชาติภายใต้ข้อ 7 และ 8 และค่าใช้จ่ายของภารกิจการตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ ตามสัดส่วนอัตราประเมินของสหประชาชาติที่ได้ปรับอย่างเหมาะสม

ข้อ 15
การลงนาม
อนุสัญญานี้ ซึ่งทำ ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1997 เปิดให้รัฐทั้งหมดลงนามที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1997 จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1997 และที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1997 จนถึงวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้

ข้อ 16
การให้สัตยาบัน การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ และการภาคยานุวัติ
1.  อนุสัญญานี้อยู่ภายใต้บังคับของการให้สัตยาบัน การยอมรับ หรือการให้ความเห็นชอบโดยรัฐผู้ลงนาม
2.  อนุสัญญานี้จะเปิดให้รัฐใดก็ตามที่มิได้ลงนามอนุสัญญาภาคยานุวัติ
3.  สัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารให้ความเห็นชอบหรือภาคยานุวัติสาร ให้ส่งมอบแก่ผู้เก็บรักษา

ข้อ 17
การมีผลบังคับใช้
1.   อนุสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้ในวันแรกของเดือนที่ 6 หลังจากเดือนที่มีการส่งมอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานนุวัติสารฉบับที่ 40
2.  สำหรับรัฐใดที่ส่งมอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารให้ความเห็นชอบหรือภาคยานุวัติสารของรัฐนั้นหลังจากวันที่ส่งมอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารให้ความเห็นชอบหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ 40 อนุสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้ในวันแรกของเดือนที่ 6 หลังจากวันที่รัฐนั้นได้ส่งมอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารให้ความเห็นชอบหรือภาคยานุวัติสารของรัฐนั้น

ข้อ 18
การใช้อนุสัญญาเป็นการชั่วคราว
รัฐใด ๆ อาจประกาศในขณะที่รัฐนั้นให้สัตยาบัน ยอมรับ ให้ความเห็นชอบหรือภาคยานุวัติอนุสัญญานี้ ว่ารัฐนั้นจะใช้ข้อ 1 วรรค 1 ของอนุสัญญานี้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่รอให้อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้

ข้อ 19
ข้อสงวน
ข้อต่าง ๆ ของอนุสัญญานี้จะไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อสงวน

ข้อ 20
ระยะเวลาและการถอนตัว
1.  อนุสัญญานี้มีระยะเวลาใช้ได้โดยไม่จำกัด
2.  รัฐภาคีแต่ละรัฐ ในการใช้อธิปไตยของชาติ มีสิทธิที่จะถอนตัวจากอนุสัญญานี้ รัฐภาคีนั้นจะแจ้งการถอนตัวดังกล่าวไปยังรัฐภาคีอื่น ๆ ทั้งหมดไปยังผู้เก็บรักษา และไปยังคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ สารการถอนตัวให้รวมถึงคำอธิบายอย่างสมบูรณ์ถึงเหตุผลของการถอนตัวดังกล่าว
3.  การถอนตัวดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อ 6 เดือนหลังจากผู้ที่เก็บรักษาได้รับสารการถอนตัว อย่างไรก็ตาม หากเมื่อครบกำหนด 6 เดือน รัฐภาคีผู้ถอนตัวกำลังอยู่ในการขัดกันด้วยอาวุธ การถอนตัวไม่มีผลก่อนการสิ้นสุดของการขัดกันด้วยอาวุธนั้น
4.  การถอนตัวของรัฐภาคีจากอนุสัญญานี้ไม่กระทบทางใด ๆ ต่อหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีภายใต้กฎที่เกี่ยวข้องใด ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป

ข้อ 21
ผู้เก็บรักษา
ให้เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้เก็บรักษาอนุสัญญานี้

ข้อ 22
ตัวบทที่ถูกต้อง
ต้นฉบับของอนุสัญญานี้ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซียและภาษาสเปน เป็นต้นฉบับที่ถูกต้องเท่าเทียมกัน และให้เก็บรักษาไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น